วันอาทิตย์ที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ระบบประสานทางพิกัดหรือระบบโมดูล่า (Modular Coordination)

ห้วงเวลาไม่นานมานี้เราคงได้ยินคำว่า โมดูล่า (Modular) หรือ บ้านโมดูล่า หรือ ก่อสร้างบ้านระบบโมดูล่า ออกมาบ่อยๆ โดยเฉพาะงานด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างและจากผู้ผลิตวัสดุเกี่ยวกับการก่อสร้าง และเป็นกระแสที่คาดการณ์ว่าในอนาคตอันใกล้นี้ระบบดังกล่าวจะมีการนำมาใช้อย่างแพร่หลายมากขึ้น ก่อนอื่นคงว่าว่ากันถึงที่มาที่ไปของ ระบบประสานทางพิกัดหรือระบบโมดูล่า ซึ่งต่อไปจะขอเรียกว่า ระบบโมดูล่า

ระบบโมดูล่าคืออะไร?

ระบบโมดูล่า คือระบบมิติหรือขนาด (Dimentional system) เป็นระบบที่มีการบอกขนาดจากจุดอ้างอิ้งหรือพิดัดอ้างอิงทั้งสามมิติ คือ มิติด้านความสูง มิติด้านความกว้าง มิคิด้านความยาว ตามแนวแกนที่ใช้อ้างอิง หากนึกไม่ออกก็นึกถึงแกน x, y และ Z ในเรขาคณิตนั่นเอง จากแนวคิดนี้ได้ถูกนำมาใช้เพื่อควบคุมคุณภาพ (Quality control) และการเพิ่มผลผลิต (Increase of productivity) สำหรับอุตสาหกรรมการผลิต เช่นเดียวกันกับการก่อสร้างได้มีการนำมาใช้ในวางแผนงาน การออกแบบอาคาร การวางแผนการก่อสร้าง การผลิตวัสดุในอุตสาหกรรมก่อสร้าง ที่จะนำมาใช้ในการประกอบขึ้นเป็นอาคาร เพื่อไม่ให้มีการตัดเศษวัสดุหรือผลิตภัณฑ์เมื่อนำมาประกอบในขณะก่อสร้างทำให้ลดการสูญเสียวัสดุ แรงงาน ต้นทุน ตั้งแต่ขบวนการผลิตในอุตสาหกรรมการผลิตวัสดุ ลดระยะเวลาการก่อสร้าง ลดขั้นตอนการทำงาน ใช้เวลาในการประกอบติดตั้งในสถานที่ก่อสร้างน้อย ลดการสูญเสียหรือสูญเปล่าของวัสดุ ทำให้สามารถควบคุมคุณภาพของวัสดุ ฝีมือ คุณภาพงาน และระยะเวลาการก่อสร้าง และเมื่อพิจารณาถึงองค์รวมแล้วจะทำให้เกิดความประหยัด สามารถลดต้นทุนการก่อสร้างโครงการได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในโครงการที่มีหน่วยการก่อสร้างปริมาณมากๆ หรือโครงการขนาดใหญ่ ดังนั้นระบบโมดูล่าจึงถูกกำหนดเป็นมาตรฐานขึ้นเพื่อหาขนาดที่สัมพันธ์กันระหว่างส่วนประกอบของอาคารกับขนาดของอาคาร

ความเป็นมาของระบบโมดูล่านั้น ได้เริ่มคิดค้นมาใช้ประมาณ ศตวรรษที่ 15- 16 เพื่อใช้ในการออกแบบ การวางแผนการก่อสร้าง เพื่อก่อสร้างอาคารชิ้นส่วนสำเร็จรูป ในยุโรปและสหรัฐอเมริกา ทั้งนี้ได้มีการพัฒนามา ปรับปรุงมาอย่างต่อเนื่อง และได้กำหนดเป็นมาตรฐานที่ละเอียดขึ้นเรียกว่า พิกัดมูลฐาน (Basic Modula) คือ 1M = 100 มิลลิเมตร เมือ M คือ Modular นั่นเอง ในปัจจุบันระบบพิกัดมูลฐานมีการนำไปใช้อย่างแพร่หลายในประเทศที่มีมาตรฐานการก่อสร้างที่ดี รวมถึงญี่ปุ่นก็มีการนำไปใช้มาเป็นเวลานานมากเช่นเดี่ยวกัน

ในบ้านเราเองนั้นมีการพยายามนำระบบโมดูล่ามาใช้เพื่อเป็นมาตรฐานในการผลิตวัสดุชิ้นส่วนสำเร็จรูปต่างๆ ที่ใช้ในอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เช่น ชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป ประตู หน้าต่าง กระเบื้องปูพื้น-ผนัง กระเบื้องมุงหลังคา ฝ้าเพดานสำเร็จรูป ผนังสำเร็จรูป เป็นต้น อย่างไรก็ตามการผลิตชิ้นส่วนสำเร็จรูปในบ้านเรา มีขนาดที่แตกต่างกัน ผู้ออกแบบดำเนินการออกแบบตามความเคยชิน ไม่ได้คำนึงถึงระบบโมดูล่า อีกทั้งระบบดังกล่าวไม่ได้นำไปถูกใช้ให้ความรู้เกี่ยวกับผู้เกี่ยวข้องอย่างแพร่หลาย และทราบถึงข้อดีของระบบดังกล่าว จึงดูเป็นเรื่องใหม่ในวงการก่อสร้างในบ้านเรา สิ่งที่เราเห็นกันทั่วไปคือชิ้นส่วนสำเร็จรูปต่างๆ ที่มีการผลิตสู่ตลาดนั้นโดนตัดเศษ ตัดทิ้ง อยู่ทั่วไปจนกลายเป็นเรื่องปกติของงานก่อสร้างทั่วไปในบ้านเรานั่นเองครับ มาถึงตอนนี้เราคงพอทราบแล้วว่า ระบบโมดูล่านั้นมีประโยชน์กับการผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูป หรือระบบพรีคาสท์คอนกรีต เป็นอย่างมาก ตอนหน้าค่อยมาว่ากันถึงระบบโมดูล่าหรือระบบประสานทางพิกัดการก่อสร้าง ก การผลิตชิ้นส่วนคอนกรีตสำเร็จรูปและการก่อสร้างบ้านระบบโมดูล่ากันนะครับ