วันเสาร์ที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

การตรวจสอบ รับมอบบ้านที่ก่อสร้างด้วยระบบพรีคาสท์



เราจะมาว่าถึงเรื่องบ้านที่สร้างด้วยระบบพรีคาสท์ที่ดำเนินการก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว เราจะมีแนวทางหรือขั้นตอนใดบ้างในการตรวจสอบงานก่อสร้างก่อนการรับมอบบ้านจากผู้ดำเนินการก่อสร้างหรือจากโครงการก่อสร้าง โดยเป็นการตรวจรับมอบงานแบบง่ายๆ และสามารถตรวจสอบได้ทุกคน โดยใช้วิธีตรวจสอบด้วยสายตา และอุปกรณ์ง่ายๆ ที่มีอยู่รอบตัวครับ การครวจสอบแบ่งออกเตามระบบของบ้าน โดยพิจารณาจุดที่ต้องตรวจสสอบเป็นพิเศษ ดังนี้
1. การตรวจสอบโครงสร้าง โดยทั่วไปการสร้างบ้านด้วยระบบพรีคาสท์จะเป็นแบบผนังรับน้ำหนัก ซึ่งโดยปกติทั่วไปแล้วผนังบ้านเองจะมีความแข็งแรงอยู่แล้ว เราคงตรวจสอบรอยแตกร้าวของผนังด้วยการสังเกตุหรือการกวาดสายตาไปทั่วบริเวณผนังนั้นๆ ว่ามีเส้นหรือแนวการแตกร้าวหรือไม่ทั้งนี้หากพบมีรอยแตกตามแนวนอนหรือแนวตั้งที่มีขนาดประมาณ เส้นผมเป็นแนวยาวมากกว่า 0.5 เมตร และหากทำการเคาะด้วยเหล็กหากมีเสียงแตกต่างจากการเคาะผนัง ต้องรีบแจ้งให้ทำการซ่อมแซมโดยเร็ว
2. การตรวจสอบรอยต่อของผนัง ตามปกติแล้วการก่อสร้างด้วยระบบพรีคาสท์แบบผนังรับแรง วิศวกรจะออกแบบให้มีจุดเชื่อมต่อของผนังออกเป็น 2 ส่วน คือ รอยต่อผนังตามแนวตั้ง และรอยต่อผนังตามแนวนอน สำหรับกรณีรอยต่อผนังตามแนวตั้งเราจะพบบริเวณมุมของตัวบ้าน แนวผนังที่ชนกัน และแนวกั้นห้อง เป็นต้น และจะพบทุกชั้นของบ้าน การตรวจสอบนั้นต้องสังเกตุรอยแตกร้าวทั้งด้านนอกและในตัวบ้าน หากพบว่ามีการแตกร้าวเป็นแนวตามแนวดิ่ง ให้ตั้งสมมุติฐานว่าเป็นการแตกร้าวเนื่องจากการประกอบรอยต่อระหว่างแผ่นผนังไม่ดี หากปล่อยไว้จะทำให้น้ำรั่วซึมได้ง่าย และจะส่งผลเสียต่อพื้น ภายในตัวบ้าน ส่วนน้ำที่ซึมผ่านรอยต่อจะส่งผลให้สีหลุดร่อนตามมาด้วย ซึ่งถ้าตรวจพบให้แจ้งดำเนินการซ่อมทันที
สำหรับรอยต่อตามแนวนอนนั้นส่วนใหญ่จะเป็นรอยต่อของแผ่นผนังชั้นบนและชั้นล่างต่อเชื่อมกัน ยาวโดยรอบตัวบ้าน ส่วนใหญ่การก่อสร้างมักจะติดบัวปิดทับบริเวณดังกล่าวไว้เพื่อความสวยงาม การตรวจสอบในส่วนนี้หากบ้านที่ไม่มีบัวบิดทับสามารถตรวจสอบได้ง่ายว่ามีรอยแตกร้าวตามแนวนอนขนานตัวบ้านหรือไม่ ตำแหน่งที่เกิดจะใกล้เคียงกับระบพื้นหรือต่ำกว่าเล็กน้อย ซึ่งหากปล่อยไว้ก็จะทำให้น้ำไหลซึมผ่านเข้าไปที่ฝ้าเพดานชั้นล่างได้ ส่วนกรณีที่มีบัวบิดทับให้ตรวจสอบด้านบนของบัวว่ารอยต่อระหว่งบัวกับผนังนั้นมีรอยแตกร้าวหรือไม่หากมี จะส่งผลให้น้ำซึมผ่านและไหลเข้าไปรอยต่อที่บัวบิดทับได้เช่นกัน ดังนั้นต้องแจ้งให้มีการซ่อมแซมรอยร้าวนั้นๆก่อน


3. การตรวจสอบการรั่วซึมบริเวณห้องน้ำ โดยทั่วไปพื้นบริเวณห้องน้ำมักจะเกิดการรั่วซึมของน้ำซึ่งเกิดมาจากสาเหตุหลักๆ 2 ส่วน คือ สาเหตุแรก พื้นห้องน้ำรั่วเนื่องจากมีโพรง คุณภาพคอนกรีตไม่ดี น้ำซึมผ่านรอยต่อกระเบื้องพื้นไหลตามโพรงในพื้นลงสู่เพดานชั้นล่าง มักพบตามแนวขอบผนังห้องน้ำ เป็นต้น หากมีการใช้งานหรือทดสอบด้วยการขังน้ำทิ้งไว้ประมาณ 1 วัน แล้วสังเกตคราบหรือหยดน้ำบริเวณฝ้าเพดานของชั้นล่างห้องน้ำหากพบแสดงว่ามีการรั่วซึมต้องแจ้งซ่อมโดยด่วน สาเหตุที่สอง เป็นการรั่วซึมบริเวณรอบแนวท่อน้ำกับพื้น เนื่องจากการติดตั้งระบบท่อไม่ดีพอ ต้องดำเนินการซ่อมโดยใช้วัสดุกันซึมโดยรอบแนวท่อใหม่
ทั้งหมดข้างต้นนั้นเป็นการตรวจสอบ ที่จำเป็นต้องพิจารณาเป็นพิเศษสำหรับการตรวจสอบก่อนการรับมอบบ้านที่ก่อสร้างด้วยระบบพรีคาสท์ ฉบับหน้ามาคุยกันต่อเกี่ยวกับการตรวจสอบบ้านขณะที่เข้าอยู่อาศัยแล้ว ว่าต้องดูแลหรือีข้อควรตรวจสอบบ้านอย่างไรบ้าง สวัสดีครับ


บ้านพร้อมอยู่/ฉ.มีนาคม 2552
Home -Technology /โดย....Mr.T